“อุ่นนี้ เพื่อน้องปี 8” กับพนาไพรฯ ที่แม่เหว่ยทะ หมู่บ้านสุดท้ายปลายน้ำแม่น้ำเมย

TRAVEL TRIP

“เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ” ภายใต้คำขวัญวันเด็กประจำปี 2562 ก็คงไม่ต่างจากทุกๆ ปี โดยเฉพาะชาวจิตอาสาทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม คลับ ทั้งทางเรียบ ทางฝุ่น มอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะกลุ่มออฟโรด มักจะเดินทางไปร่วมกันจัดงานคืนความสุขให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนที่ห่างไกลความเจริญและทุรกันดาร อันเป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมายาวนาน

ปีนี้เป็นอีกครั้งที่ได้มีโอกาสเดินทางไปกับชมรมพนาไพรเอ้าท์ดอร์ออฟโรดและ MT เจริญยนต์ ไปร่วมงานวันเด็กแห่งชาติ ที่จัดต่อเนื่องกันมานานถึง 8 ปี ด้วยการฝ่าเส้นทางออฟโรด ขับเลาะเหลี่ยมเขาและแม่น้ำเมยไปจัดกิจกรรมให้กับที่ ร.ร.แม่เหว่ยทะ หรือ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.แม่เหว่ยทะ) อ.ท่าสองยาง เป็นโรงเรียนสุดท้ายของ จ.ตาก ที่ตั้งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำเมย ก่อนที่สายน้ำแห่งนี้จะไหลต่อไปสมทบกับแม่น้ำสาละวิน ที่บ้านสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งแม่น้ำเมยนี้ พม่าเรียกว่า แม่น้ำต่องยิน   เป็นแม่น้ำสายย่อยของแม่น้ำสาละวิน กั้นเขตแดนไทย-เมียนมาร์ มีจุดกำเนิดที่บ้านน้ำด้น (เป็นน้ำที่ผุดขึ้นจากใต้ดิน) อ.พบพระ จ.ตาก แม่น้ำสายนี้แปลกกว่าแม่น้ำทั่วไปคือ ไหลขึ้นไปทางเหนือผ่าน อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง มาบรรจบกับแม่น้ำสาละวินที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีความยาว 327 กิโลเมตร

ส่วน แม่น้ำสาละวิน นั้น เป็นแม่น้ำสายที่ยาวเป็นอันดับที่ 26 ของโลก ยาว 2,800 กิโลเมตร และเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มีต้นกำเนิดจากการละลายของหิมะเหนือเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านมณฑลยูนนานของจีน ซึ่งเรียกแม่น้ำนี้ว่า นู่เจียง หมายถึง “แม่น้ำพิโรธ” และไหลผ่านรัฐฉาน รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง ของเมียนมาร์ ซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดน ระหว่างเมียนมาร์กับไทยที่ จ.แม่ฮ่องสอน และไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำเมย หลังจากนั้นจึงไหลวกกลับเข้าเมียนมาร์ และออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ รัฐมอญ

ทริปนี้มีสมาชิกร่วมเดินทางมากกว่า 30 คัน ปีนี้นอกจากจะจัดเต็มในเรื่องของกิจกรรม และการมอบอุปกรณ์การเรียนการสอน รวมทั้งเลี้ยงอาหารให้กับเด็กๆ จำนวน 98 คนและชาวบ้านในแถบนี้แล้ว ยังร่วมกันระดมทุนมากกว่า 200,000 บาท จัดสร้าง “สุขศาลา พนาไพร” เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลชุมชนสำหรับโรงเรียนและชาวบ้านในแถบนี้อีกด้วย

 “โรงเรียนแม่เห่วยทะ” มีชื่อเต็มว่า “ศูนย์การเรียนชุมชนไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านแม่เหว่ยทะ” เปิดสอนตั้งแต่ อนุบาล– ป. 6 มีนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 98 คน มีครูประจำ 2 คน (ครูพี่เลี้ยง 1 คน) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2545 ได้มีการอนุมัติจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ปัจจุบันโรงเรียนบ้านแม่เหว่ยทะ เป็นศูนย์การศึกษาให้กับนักเรียน 4 หย่อมบ้าน ได้แก่ แม่เหว่ยทะบน แม่เหว่ยทะล่าง มอต้อเก (อยู่ห่างไปราว 4 กม.) แม่โปโก (อยู่ห่างออกไป 5 กม.) ซึ่งในอดีตเด็กๆ ในหมู่บ้านเหล่านี้ ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะอยู่ติดชายแดน (ห่างจากชายแดนไทย-พม่า เพียง 3 กิโลเมตร) ตลอดจนการเดินทางออกนอกพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ชาวบ้านที่จะเดินทางไปธุระในตัวอำเภอหรือตัวเมืองจึงเลือกเดินทางโดยทางเรือมากกว่ารถ ที่ต้องขับผ่านเส้นทางที่คดเคี้ยวและลาดชัน เต็มไปด้วยความยากลำบาก และต้องเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น สำหรับการเดินทางโดยทางเรือนั้นใช้เวลาประมาณไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ก็จะถึง อ.ท่าสองยาง รวมทั้งใช้เวลาอีกไม่กี่อึดในก็จะถึงบ้านแม่จะเรา อ.แม่ระมาด

อันเนื่องด้วยระยะทางไปบ้านแม่เหว่ยทะค่อนข้างไกลมากกว่า 800 กิโลเมตร สำหรับสมาชิกส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ทำให้วันพฤหัสฯที่ 9 ม.ค.2562 หลายๆ คันจึงเริ่มเดินทางขนข้าวของทะยอยออกเดินทางตั้งแต่เช้า เพื่อไปพักแรมกันที่ อ.ท่าสองยาง ก่อนที่รุ่งสางของวันศุกร์จะนัดเจอกันที่ปากทางเข้าบ้านแม่ตื่น ต.แม่ตื่น อ.ท่าสองยาง โดยมีทางครูของโรงเรียนบ้านแม่เหว่ยทะมาดักรอนำทาง โดยแบ่งรถออกเป็น 2 ขบวน เนื่องจากก่อนหน้าวันเดินทางนั้น ฝนได้ตกลงกระหน่ำลงมาอย่างต่อเนื่องจากหย่อมความกดอากาศจากประเทศจีน ปะทะกับอิทธิพลของพายุปาปึกที่เริ่มสลายตัวไปแล้ว ทำให้ภาคเหนือปกคลุมไปด้วยพายุฝนต่อเนื่องกัน 2-3 วันติดๆ กัน เส้นทางที่จะต้องขับรถฝ่าขุนเขา เลาะแม่น้ำเมยไปถึง 16 กิโลเมตร สู่บ้านแม่เหว่ยทะกลางหุบจึงไม่ง่ายเท่าไรนัก โดยเฉพาะรถหลายๆ คันที่เป็นรถสแตนดาร์ด

กระนั้นในช่วงของขาไปนั้น ถือว่าไม่ยุ่งยากเท่าไร จุดไฮไลท์ที่เป็นเนินชันยาวๆ เป็นในช่วงขาลงเสียส่วนใหญ่ ประกอบกับเส้นทางที่เริ่มแห้ง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ หรือก่อนเที่ยงวัน ขบวนรถชุดแรกก็เดินทางถึงหมู่บ้านและทะยอยข้ามลำห้วยแม่หว่ยทะข้ามไปยังโรงเรียนที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม พร้อมกับจัดแจงเตรียมที่พักแรมและคัดแยกสิ่งของที่นำมาเพื่อมอบและทำกิจกรรมให้กับเด็กๆ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็แยกไปช่วยกันทาสี“สุขศาลา พนาไพร” เพื่อให้ทันกับเวลาที่สาธารณสุขอำเภอท่าสองยางมารับมอบในวันพรุ่งนี้

ตกเย็นก็มีการทำอาหารเลี้ยงเด็กๆ และชาวบ้าน รวมทั้งฉายหลังกลางแปลงจากพนาไพรภาพยนต์เป็นส่งมอบความบันเทิงให้กับเด็กๆ และชาวบ้านอีกด้วย

ส่วนในช่วงวันเสาร์ที่ 12 มกราคม 2562 ซึ่งตรงกับวันเด็กแห่งชาติ กิจกรรมของชาวพนาไพรฯ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้าไปกระทั่งเย็น ทั้งการเล่นเกมส์รับของรางวัลจากซุ้มต่างๆ การออกร้านอาหารของเหล่าสมาชิก รวมทั้งมอบของให้กับนักเรียนและชาวบ้าน สร้างความสนุกสนานและประทับใจให้ทั้งกับผู้รับและผู้ให้

และนี่คือ อีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ  “อุ่นนี้ เพื่อน้องปี 8” ของชาวพนาไพรฯ ที่แม่เหว่ยทะ หมู่บ้านสุดท้ายปลายน้ำแม่น้ำเมย

Related Posts