การไปกางเต็นท์แบบเอ้าดอร์หรือกลางแจ้งนั้น ส่วนใหญ่ปัญหาแรกๆ ที่จะต้องเจอเลยก็คือ เต็นท์จะเปียกชื้นจากน้ำค้าง หรือเจอฝน รวมทั้งความสกปรกอื่นๆ เช่นเศษหิน เศษดินทราย เป็นต้น ดังนั้นเต็นท์จึงสกปรกแน่นอน จะสกปรกมากหรือน้อยก็ควรทำความสะอาด ถ้าสกปรกน้อยก็ควรทำความสะอาดด้วยการใช้ไม้กวาดเพื่อปัดกวาดเอาเศษขยะภายในเต็นท์ และที่ติดอยู่ตามภายนอกเต็นท์ออกไป และใช้ผ้าชุบน้ำเปล่าพอหมาดๆ นำมาเช็ดถูภายในเต็นท์และภายนอกเต็นท์ ห้ามใช้แปรงขัดเพราะแปรงจะทำให้สารเคลือบหลุดออกเช่นกัน จากนั้นนำไปตากแดดในที่ร่มหรือแดดอ่อนๆ ยามเช้าหรือยามเย็น ควรตากให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันกลิ่นอับและเชื้อราที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเต็นท์สกปรกมาก ก็ควรใช้น้ำสะอาดล้างหรือควรใช้น้ำผสมสบู่หรือยาสระผมอย่างอ่อน ห้ามใช้ผงซักฟอกอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เนื้อผ้าของเต็นท์เสื่อมสภาพเร็วขึ้น...
“อุทยานทางธรณี” ไม่ได้มีความหมายเช่นอุทยานแห่งชาติ หากแต่อุทยานธรณี หมายรวมถึงพื้นที่ที่มีความโดดเด่นทางธรณี วิถีชีวิต วัฒนธรรม หรืออาจจะกล่าวรวมได้ว่า แทบทุกอย่างที่อยู่ในพื้นที่นั้น โดยเกณฑ์แรกที่พิจารณาคือมีความโดดเด่นทางธรณีมาก่อน แม้อุทยานธรณีที่ถูกประกาศว่าพื้นที่ใด ตรงไหนเป็นอุทยานธรณีแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนในพื้นที่จะเข้าไป ไปยุ่งเกี่ยว หรืออยู่อาศัยไม่ได้ อย่างเช่นอุทยานแห่งชาติไม่ แต่อุทยานธรณีเหมือนประกาศให้ทั่วไปรู้ว่าพื้นที่ตรงไหนที่มีความโดดเด่น มีความสำคัญ แต่ทุกอย่างก็ยังคงเป็นเช่นเดิม ไม่มีเจ้าหน้าที่ไปเฝ้า หรือเก็บค่าธรรมเนียมแบบอุทยานแห่งชาติ ทุกอย่างยังคงปกติ ประชาชนในพื้นที่ยังคงใช้ชีวิตดั่งเช่นเดิม สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ คนจากภายนอกจะได้รับการบอกกล่าวจากกรมทรัพยากรธรณี เจ้าของโครงการได้มากขึ้นว่าที่ใดบ้างที่มีความโดดเด่น น่าไปท่องเที่ยวหาความรู้หรือเพื่อความเพลิดเพลิน
อุทยานธรณีสตูลถูกประกาศให้ครอบคลุมพื้นที่ อ.ทุ่งหว้า อ.มะนัง อ.ละงู และ ต.หนองสาหร่าย ใน อ.เมือง ซึ่งหมายรวมถึงเกาะในอุทยานตะรุเตาและอุทยานหมู่เกาะเภตราด้วย
ในต่างประเทศเช่น จีน อเมริกา และอีกหลายๆที่ ที่มีความโดดเด่นทางธรณีมากๆ เช่น อุทยานธรณีจางเย่ ในมลฑลกานซู่ ประเทศจีน ที่มีความโดดเด่นที่ภูเขาดินมีสีสันต่างๆ พื้นที่เหล่านี้สามารถสร้างงาน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างมาก
หากแต่อุทยานธรณีสตูลนั้น ความโดดเด่นไม่ได้พบมองเห็นในขณะนั้น หากแต่ว่าความโดดเด่นกลับอยู่ที่แทบทุกตารางเมตรของอุทยานธรณีสตูลนั้น เต็มไปด้วยซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตในมหายุคที่เรียกว่า พาลิโอโซอิก ที่มีอายุตั้งแต่๕๔๒ ล้านปี จนถึง ๒๕๑ ล้านปีที่ผ่านมา ในยุคนี้จะมียุคทั้งหมด ๖ ยุค คือยุคที่โลกเริ่มนิ่ง จึงเริ่มมีสิ่งมีชีวิต มีสัตว์ที่มีเปลือกแข็งมาห่อหุ้มตัว อย่างพวกไทรโลไบต์ พวกหอย เรื่อยไปจนมีสัตว์ทะเล และเริ่มมีพืชบก และเริ่มพบแมลงปีกแข็ง รวมทั้งเริ่มมีสัตว์เลื้อยคลาน ซากของสิ่งมีชีวิตในมหายุคนี้ ถูกฝังซ่อนไว้ในแผ่นดินของอุทยานธรณีสตูล มีการเก็บรวบรวมซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตในมหายุคพาลิโอโซอิกนี้ไว้ครบถ้วนทุกยุคในเขตอุทยานธรณีสตูล โดยนักเรียนชมรมธรณีวิทยาขอโรงเรียนกำแพงวิทยา อ.ละงู จ.สตูล และจัดแสดงไว้ที่โรงเรียน ซึ่งเป็นที่เดียวและครั้งแรกที่มีการรวบรวมซากฟอสซิลที่บ่งบอกถึงพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตแต่ละยุคไว้ได้ครบทั้ง ๖ ยุค
นี่คือคุณค่ามีอุทยานธรณีสตูลมี แต่สิ่งที่เป็นดังไม้ขีดก้อนแรกที่จุดประกายการจัดตั้งอุทยานธรณีคือการพบเห็นขากรรไกร และฟันกรามล้างของช้างโบราณอายุ ๑. ๘ ล้านปี เป็นช้างในสกุลสเตโกดอน ซึ่งเป็นสกุลพันธุ์ช้างโบราณ พบภายในถ้ำลอดวังกล้วย ในเขต อ.ทุ่งหว้า และเมื่อมีการส่งพิสูจน์ทางธรณีจึงรู้ว่าเป็นช้างโบราณ นั่นจึงนำมาสู่การจัดตั้งเป็นอุทยานธรณี โดยกรมทรัพยากรธรณี
สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้นอกเหนือจากการมีคุณค่าทางธรณีอันเป็นคุณสมบัติเริ่มแรกแล้ว อุทยานธรณีจะต้องรวมไปถึงวิถีชีวิต ชุมชนวัฒนธรรม โดยชุมชนทุ่งหว้าก็เหมือนกับชุมทางค้าขายทางเรือในอดีตที่เคยเจริญรุ่งเรือง มีอาคารร้านค้า ตึกแถวรูปทรงชิโน-โปรตุกีสเคยเรียงรายอยู่สองฝั่งทาง จวบจนกระทั่งการคมนาคมเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับถนนมากขึ้น ความซบเซาจึงครอบคลุมอำเภอทุ่งหว้า แต่กระนั้นก็ยังคงมี วัฒนธรรมที่มาพร้อมกับคนจีนที่มาค้าขายและปักหลัก เช่นประเพณีไหว้ผีโบ๋
และในเขต อ.ทุ่งหว้า ยังเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนเผ่าพันธุ์ที่เราเคยเรียกเขารวมๆว่าเงาะป่า แต่นักมานุษยวิทยาได้ศึกษาและเรียกเขาว่า เซมัง ชาวเซมังอาศัยในป่าลึก ยังดำเนินชีวิตเฉกเช่นในอดีต อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามโลกบ้างเช่นใส่เสื้อผ้า แต่ยังคงนอนในเพิงไม้ที่ทำขึ้น หาเอก มันป่า ล่าสัตว์ด้วยลูกดอกเช่นเดิม นานๆ จึงจะลงมาแลกเปลี่ยนสินค้าจากคนเมืองสักครั้ง
ความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในพื้นที่เขตอุทยานธรณีสตูลนั้นมีหลากหลาย ที่น่าสนใจ นับตั้งแต่กิจกรรมการพายเรือแคนูล่องถ้ำวังกล้วย ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำที่พบซากฟอลซิลช้างโบราณ โดยเป็นถ้ำลอดที่ยาวนับกิโล ภายในถ้ำมีทั้งหินย้อยที่สวยวาม น้ำตก และเนินทรายในถ้ำ นอกจากนี้ตามผนังถ้ำยังปรากฏซากฟอสซิลของเหล้าวิงมีชีวิตในมหายุคพาลิโอโซอิกปรากฏอยู่ด้วย ทั้งยังมีสันทรายปรากฏขึ้นในช่วงปากแม่น้ำที่ต่อกับทะเลตรัง มีทรายสีเหลือง จึงเรียกกันว่าสันหลังมังกรเหลือง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีที่น่าสนใจ
แต่ที่ดูเหมือนรู้จักกันมานาน คงเป็นการล่องแก่งวังสายทอง ซึ่งมีน้ำตกวังสายทอง เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของพื้นที่ แต่ที่เป็นไฮไลท์ของเส้นทางล่องแก่งวังสายทองคือการล่องเข้าไปในเพิงถ้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่าถ้ำเจ็ดคต ที่เป็นลำห้วยที่มาจาก ๓ อำเภอของสตูล ไหลลอดออกมาบรรจบกัน เกิดเป็นปากถ้ำที่มีสายน้ำสีเขียวมรกตในยามที่ต้องแสงแดด นับเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าทางธรรมชาติและเป็นปรากฏการณ์ทางธรณีที่ลงตัว
และในเขต ต.ปาล์มพัฒนา อ.ทุ่งหว้านั้น มีถ้ำที่เป็นสุดยอดของถ้ำ ที่มีทั้งความใหญ่โตของโถงถ้ำ ทั้งยังมีถ้ำที่ซ้อนทับกันอยู่ข้างล่าง หินงอก หินย้อยที่สวยงามและสมบูรณ์ และมีแอ่งน้ำโบราณอายุนับแสนปีอยู่ภายในถ้ำปรากฏให้เห็นคราบไคล เป็นที่น่ามหัศจรรย์เป็นอย่างมาก ถือเป็นถ้ำแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่มีความลงตัวทั้งรูปลักษณ์ องค์ประกอบ และเนื้อหาทางธรณีที่ครบถ้วน
นอกจากนั้นในพื้นที่อุทยานธรณี ยังมีถ้ำเขาอุไรทอง มีเขาทะนานที่นอกจากจะโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ ยังพบซากฟอสซิลสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกมากมาย ทั้งยังมีน้ำตกธารปลิว ฯลฯ
การที่ในพื้นที่อุทยานธรณีสตูลถูกประกาศให้เป็นอุทยานธรณีระดับชาติไปแล้วนั้น ประกอบกับการมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายไม่เฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางธรณี ทำให้อุทยานธรณีสตูลคือจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวควรไปมาใช้เวลาเที่ยวชมสถานที่ต่างๆให้คุ้มค่า อีกทั้งนายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับนายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผอ.อุทยานธรณีสตูล ที่ร่วมกันผลักดันให้อุทยานธรณีสตูลได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลก เพื่อจะได้เป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางจากทั่วโลกต่อไป ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของยูเนสโก
เราก็ได้แต่เอาใจช่วยและขอให้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อจะได้เป็นการป่าวประกาศว่าเรามีอะไรดีๆให้ดูที่สตูล…
คมฉาน ตะวันฉาย..เรื่อง/ภาพ