สวัสดีครับ ข้อมูลนี้ได้จากการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่ข้อมูลภายในบริษัทผลิตสินค้า กรณีต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาสอบถามจากผู้แทนจำหน่าย รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในคันแรกของโลก มีขึ้นในปี 1903 ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อวิบากหรือ 4×4 Off Road ก็ได้รับการวิจัยพัฒนาจนได้รับการบรรจุเข้าประจำการในราชการสงครามโลก สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อวิบากถูกปลดประจำการ พลเรือนจึงนำมาดัดแปลงสภาพเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมป่าไม้ เหมืองแร่ ฟาร์มไร่ปศุสัตว์ กลุ่มนักผจญภัยใช้ชีวิตกลางแจ้ง (Outdoor Life) ทั้งอเมริกันและอินโดนีเซีย นำมาขับลุยป่าเล่นในวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นที่ฮือฮานิยมแพร่หลายทั่วโลก...
เมื่อเสร็จสิ้นในการขับรถข้ามน้ำ หรือผ่านพื้นที่ที่น้ำท่วม สิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติ ก็คือ การไล่น้ำออกจากผ้าเบรก โดยการทำการเบรกย้ำหลายๆ ครั้ง จนสามารถหยุดรถได้ตามปกติและไม่มีเสียงดังครืดๆ อีก ความร้อนจะทำให้น้ำระเหยออกจากผ้าเบรกจนหมด หากยังไม่ได้ไล่น้ำออกจากผ้าเบรก ควรหลีกเลี่ยงการดึงเบรกมือทิ้งไว้นานๆ โดยเฉพาะทิ้งข้ามคืน เพราะผ้าเบรกจะบวมจนจับจานเบรกแน่น ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนรถได้
หากมีเวลามากพอหรือภายหลังจากทริปที่มีการลุยน้ำ ควรตรวจเช็คระบบเบรกทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าสปริงและลูกยางอยู่ในสภาพที่ดี ไม่มีสนิมหรือรอยฉีกขาดอันเกิดจากทรายละเอียดที่น้ำพัดเข้าไป ซึ่งอาจเกิดการกัดจนสึกหรือฉีกขาดได้ ต้องไม่ลืมที่จะตรวจผ้าเบรกและจานเบรกให้อยู่ในสภาพที่ดี หากพบว่ามีระยะห่างระหว่างผ้าเบรกและจานเบรก(จานดุม) เพิ่มมากขึ้นและรู้สึกว่าเบรกจม ให้ทำการตั้งใหม่
ระบบหล่อลื่นก็สำคัญ ถ้ารถแช่น้ำเป็นเวลานาน ให้ตรวจเช็คน้ำมันเครื่อง น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเฟืองท้าย และน้ำมันเกียร์ทันที เนื่องจากน้ำอาจเข้าไปผสมในระบบน้ำมันต่างๆ ของรถได้ และอาจก่อให้เกิดปัญหากับระบบเครื่องยนต์ และเฟืองต่างๆ เหตุเพราะน้ำมันจะสูญเสียคุณสมบัติในการหล่อลื่น จนไม่มีชิ้นฟิล์มที่ฉาบเคลือบโลหะ จึงทำให้เสียดสีกันและเกิดความเสียหายได้ ควรทำการไล่น้ำออกจากหัวฉีดควบคู่กันไปด้วย เพื่อไล่น้ำให้ออกไปจากระบบเครื่องยนต์ทั้งหมด
ในการเปลี่ยนถ่ายระบบน้ำมันต่างๆ ควรทำทันทีภายหลังจากตรวจดูแล้วพบว่าสีของน้ำมันเปลี่ยนไปจากเดิม มีความขุ่นคล้ายกับกาแฟใส่นม ถ้าน้ำเข้าไปในเสื้อเพลาในปริมาณมาก ให้ตรวจน้ำมันเฟืองท้ายซ้ำ อาจต้องทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเฟืองท้าย 2-3 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีน้ำหลงเหลืออยู่ ไม่ต้องเสียดาย ดีกว่าปล่อยให้น้ำเข้าไปทำลายระบบเฟืองต่างๆ จนไม่สามารถซ่อมได้ แต่เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ท่านต้องมีน้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก ติดรถไปด้วย เผื่อในกรณีฉุกเฉิน สามารถเปลี่ยนถ่ายได้อย่างน้อย 1 ครั้ง
ระบบเครื่องยนต์หัวใจของการเดินทาง ทำการตรวจเช็คไส้กรองอากาศ ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง ไส้กรอง น้ำมันเครื่อง ไปพร้อมๆ กัน หากมีสำรองให้เปลี่ยนใหม่ไปเลย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเครื่องยนต์ หากว่าเราไล่น้ำออกจากระบบเครื่องยนต์ไม่หมด อาจจะส่งผลให้เครื่องยนต์สตาร์ทไม่ติด จึงควรไล่น้ำออกจากระบบเครื่องยนต์ให้หมดเสียก่อนแล้วจึงสตาร์ทเครื่องยนต์
ระบบไฟฟ้าในรถ ตรวจเช็คระบบไฟทั้งหมด โดยทำความสะอาดและไล่น้ำออกจากจุดที่เป็นสะพานไฟทั้งหลาย (หางปลา ปลั๊ก) ด้วยการฉีดสเปร์ยน้ำมันครอบจักรวาลเพื่อไล่ความชื้น หรืออาจต้องขัดสนิมออก มิฉะนั้นจะเกิดปัญหากับระบบไฟทำให้กระแสไฟไม่สามารถเดินได้สะดวก และหากเกิดการลัดวงจร อาจต้องเสียเวลาค้นหาจุดที่เป็นปัญหา
ระบบช่วงล่าง ให้อัดจาระบีเพลากลาง กากบาท และลูกหมากต่างๆ เพื่อไล่น้ำที่ขังอยู่ภายใน (โดยเฉพาะเพลากลางหากเกิดสนิมขึ้นภายใน เป็นเหตุให้เพลากลางขาดได้ง่าย) และเพื่อเป็นการหล่อลื่น เพราะหากรถแช่น้ำเป็นเวลานาน น้ำจะชะล้างเอาจาระบีออกไปบางส่วน ถ้าเป็นรถรุ่นใหม่กากบาทและลูกหมากจะไม่มีหัวอัด เพราะเป็นแบบปิดจึงไม่ต้องอัดจาระบี
ควรตรวจเช็คจาระบีดุมล้อโดยเปิดดูภายใน และตรวจสภาพของลูกปืนว่ามีสนิมเกิดขึ้นหรือไม่ โดยสามารถใช้มือนำจาระบีใส่เข้าไปได้เลยโดยไม่ต้องยุ่งยากอะไร แต่ต้องแน่ใจว่าเป็นจาระบีสำหรับดุมล้อโดยเฉพาะ เพราะจะสามารถทนต่ออุณหภูมิสูงได้ดีกว่าจาระบีหล่อลื่นธรรมดา หากเราใช้จาระบีหล่อลื่นธรรมดา หากใช้จาระบีผิดประเภท ผลที่ตามมาคือ จาระบีเลวและไหม้หมด จนไม่สามารถหล่อลื่นได้อีก ทำให้ลูกปืนล้อเกิดความเสียหายได้
สิ่งที่เกินความคาดหมายที่อาจจะเกิดขึ้นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้โดยนึกไม่ถึงคือ การที่น้ำพัดเอาผงทรายละเอียดเข้าไปในลูกลอกสายพานเครื่อง (TIMING BELT) และกัดลูกปืนจนกลายเป็นตามด ทำให้การหมุนของสายพานไม่สม่ำเสมอ ควรตรวจซ้ำภายหลังลุยน้ำลึกประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้สามารถสังเกตเห็นสนิม
หากลุยน้ำจนน้ำเข้าไปภายในห้องผู้โดยสาร ทำให้เบาะเปียกชื้น ให้รีบถอดเบาะออกตากแดดให้เร็วที่สุด มิฉะนั้นรถของท่านจะมีกลิ่นอับติดรถเป็นปี และสิ่งที่ตามมาคือรา หากสามารถถอดปลอกเบาะออกได้จะดีมาก เพราะฟองน้ำภายในอาจเป็นเชื้อรา ซึ่งเป็นผลเสียต่อระบบหายใน และต้องไม่ลืมที่จะเปิดพื้นรถออกด้วย เพราะน้ำจะเข้าไปทุกซอกทุกมุม ทำให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน อย่าลืมเปิดแผงประตูออกเพื่อทำความสะอาด และไล่ความชื้นให้หมดมิฉะนั้นอาจทำให้การทำงานของระบบล็อกอัตโนมัติและกระจกไฟฟ้าขัดข้องได้ หากระดับน้ำที่จมลึกถึงคอพวงมาลัย ให้เปิดหน้าปัดและคอพวงมาลัยออก เพื่อไล่น้ำออกให้หมดด้วยเช่นกัน
ข้อควรระวังและพึงสังเกต เมื่อรู้ว่าต้องผ่านน้ำสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อมคือ รถ เครื่องยนต์ต้องสมบูรณ์ มีการซีลในจุดที่น้ำสามารถเข้าได้เช่น ข้อต่อไอดี คอยจุดระเบิด จานจ่าย ระบบไฟฟ้า ปลั๊กต่างๆควรเป็นแบบกันน้ำและอีสิ่งที่สังเกตุได้คือ กระแสน้ำในลำห้วยจะขึ้นอยู่กับปริมาณของฝน ดังนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากที่สุด คือ สังเกตสีของน้ำภายหลังจากที่ฝนตกประมาณ 20-30 นาที หากสีน้ำเปลี่ยนไปจากเดิมและระดับน้ำสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดให้ยกเลิกการขับข้ามน้ำนั้นทันที และอยู่ในที่สูงหรืออกห่างจากลำห้วยให้มากที่สุด แม้แต่การพักแรมในฤดูฝนก็ไม่ควรอย่าใกล้น้ำมากนัก เพราะหากมีการพังของทำนบบนภูเขาน้ำก็จะไหลลงสู่ที่ต่ำกว่าแบบไม่มีทิศทาง สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นอันตรายมากสำหรับคนเที่ยวป่า