สวัสดีครับ ข้อมูลนี้ได้จากการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่ข้อมูลภายในบริษัทผลิตสินค้า กรณีต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาสอบถามจากผู้แทนจำหน่าย รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในคันแรกของโลก มีขึ้นในปี 1903 ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อวิบากหรือ 4×4 Off Road ก็ได้รับการวิจัยพัฒนาจนได้รับการบรรจุเข้าประจำการในราชการสงครามโลก สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อวิบากถูกปลดประจำการ พลเรือนจึงนำมาดัดแปลงสภาพเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมป่าไม้ เหมืองแร่ ฟาร์มไร่ปศุสัตว์ กลุ่มนักผจญภัยใช้ชีวิตกลางแจ้ง (Outdoor Life) ทั้งอเมริกันและอินโดนีเซีย นำมาขับลุยป่าเล่นในวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นที่ฮือฮานิยมแพร่หลายทั่วโลก...
หลักสูตรที่ 5. เทคนิคส่งเสริมการขาย (กรณีผู้เข้าอบรมเป็นที่ปรึกษาการขาย)
– จุดอ่อน – จุดแข็งของรถยนต์แต่ละค่าย
– ระบบการทำงานที่แตกต่าง
– สมรรถนะของรถแต่ละค่าย
– ขีดจำกัดและความสามารถพิเศษ
หลักสูตรที่ 6. เรียนรู้พื้นฐานระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ รู้จักเกียร์ 2WD และ 4WD
ระบบของเกียร์ของรถออฟโรด 2H, 4H, 4L
รถออฟโรดนั้น มีอยู่ทั้งหมด 2 ชุดด้วยกัน ชุดแรกเป็นเกียร์ขับเคลื่อนปกติ มีทั้งเกียร์เมนและเกียร์ออโตเมติก ส่วนอีกชุดหนึ่งเป็นเกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือที่เรียกกันว่า เกียร์ SLOW เกียร์นี้จะมีอักษรเขียนว่า 2H, 4H, N, 4L บนหัวเกียร์ (แต่ก็มีรถบางรุ่นที่เป็นปุ่มกดแทน) ไว้เลือกใช้ตามสถานการณ์ เราจะเรียกรถประเภทนี้ว่า 4 ล้อ PART TIME
เกียร์ 2H (2HIGH) เป็นเกียร์ที่ถ่ายกำลังเครื่องยนต์ลงสู่ล้อหลักทั้ง 2 ล้อ (ส่วนใหญ่รถออฟโรดจะขับเคลื่อนล้อหลัง) จึงเปรียบเสมือนการขับเคลื่อน 2 ล้อธรรมดา สภาพที่เหมาะสำหรับการขับเคลื่อน 2 ล้อ คือ ถนนลาดยาง หรือถนนทั่วๆ ไปสามารถทำความเร็วได้
เกียร์ 4H (HIGH) เป็นชุดเกียร์ที่ทำการขับเคลื่อนทั้งล้อหน้าและล้อหลัง ซึ่งทำการขับเคลื่อนล้อทั้ง 4 ล้อ ในสภาพอัตราทดปกติ เส้นทางที่เราควรใช้เกียร์ 4H คือ เส้นทางที่มีพื้นผิวลื่นและพื้นผิวล่างไม่แข็ง ทางลูกรัง เส้นทางที่เปียกชื้นจากฝนตก หรือเส้นทางที่โค้งและคดเคี้ยวไปมา รถจะยึดเกาะถนนได้ดียิ่งขึ้น ระบบนี้จะช่วยดึงและดันเนื่องจากรถทั้ง 4 ล้อ มีกำลังขับเท่ากัน การเข้าโค้งหรือยึดเกาะถนนจึงกระทำได้ดีกว่าการขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อ สามารถใช้ความเร็วได้ตามปกติ โดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆ จะเป็นระบบ SHIFT ON THE FLY สามารถเข้าเกียร์ 4Hได้โดยไม่ต้องจอดรถ ที่ความเร็วมาตรฐานอยู่ระหว่าง 60-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นในบางรุ่น
นอกจากนี้การใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ 4H บนเส้นทางภูเขาจะทำให้การสึกหรอของรถน้อยลง เพราะการถ่ายทอดกำลังจาก 2 ล้อ เป็น 4 ล้อ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้รอบเครื่องยนต์สูงมากเมื่อเทียบกับ 2H รวมทั้งคลัทช์ก็ไม่เปลืองเช่นกัน อีกประการการขับขี่ในช่วงที่เป็นทางราดหรือทางลง สามารถใช้เกียร์ต่ำดึงรถได้ดีกว่า โดยไม่จำเป็นต้องใช้เบรกช่วยมากนัก แต่ระบบขับเคลื่อนแบบ 4H ก็มีข้อเสียเช่นกัน ระบบนี้ชุดเฟืองเกียร์จะหมุนเพื่อขับล้อหน้า เมื่อล้อหน้าทำการขับเคลื่อนด้วย เฟืองลูกหน้าจะไม่ปล่อยให้ล้อหมุนฟรี ผลที่เกิดคือ ล้อที่อยู่ด้านในและด้านนอกจะฝืนกันเนื่องจากรัศมีที่ไม่เท่ากัน ทำให้วงเลี้ยวของรถนั้นกว้างขึ้น ดังนั้นผู้ขับขี่คงต้องเพื่อไว้สักเล็กน้อย เมื่อต้องการเลี้ยวหรือกลับรถในที่แคบๆ
ปัจจุบันมีรถอยู่หลายยี่ห้อที่ใช้ระบบเกียร์เป็นแบบ 4FULL TIME โดยเฉพาะรถประเภทคอมแพ็ก SUV และรถ SUV ทั่วๆ ไป ระบบเกียร์ 4FULL TIME เป็นชุดเกียร์ที่ทำให้รถมีแรงขับเคลื่อนทั้งล้อหน้าและหลัง ในสภาพอัตราทดเกียร์ปกติ บางรุ่นอาจจะมีปุ่มปรับ ในขณะที่บางรุ่นอาจจะเป็นระบบอัตโนมัติ ถ่ายเทกำลังตามปัญหาและอุปสรรค เช่น ล้อหน้าวิ่งปกติ 40 ล้อหลัง 60 แต่เมื่อเจออุปสรรคจะถ่ายเทกำลังสู่ล้อหน้า 50 ล้อหลัง 50 เป็นต้น รถประเภทจะสามารถลุยได้ในวงจำกัดเท่านั้น แต่ก็เหมาะกับเส้นทางออฟโรดแบบเบาๆ หรือทางลื่น โค้งเยอะ หรือถนนลูกรัง ที่ต้องการการยึดเกาะถนน
เกียร์ 4L (4LOW) ถือเป็นเกียร์หลักที่สามารถพาเจ้าของรถบุกตะลุยข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เกียร์ 4L (4LOW) จึงมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องทำการศึกษาค่อนข้างมาก เพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญการใช้เกียร์4L (4LOW) จำต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างสูงสุด เนื่องจากอัตราทดเกียร์และแรงบิดมหาศาลที่เพิ่มอีกเกือบเท่าตัว หากขับแบบผิดวิธีอาจจะทำให้รถเสียหายได้
ประการแรกถือว่าสำคัญมาก คือ ก่อนการปรับเกียร์ไปที่ 4L (4LOW) ต้องหยุดรถให้สนิททุกครั้ง และไม่ว่าจะเป็นระบบขับเคลื่อนแบบ 4H หรือ 4L ควรตั้งพวงมาลัยให้ตรงทุกครั้ง เพื่อป้องกันการขบกันของเฟืองด้านหน้า หากตั้งพวงมาลัยไม่ตรงจังหวะที่เราเข้าเกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ อาจจะสร้างความเสียหายให้กับเฟืองด้านหน้าได้ หากรถที่มีฮับล็อกก่อนเข้าเกียร์ก็ต้องลงไปบิดจากตำแหน่ง FREE มาที่ตำแหน่ง LOCK ก่อน และต้องบิดให้สุด เนื่องจากเฟืองในดุมล้อจะจับกับเพลาขับเคลื่อนล้อหน้าแบบ 100% หากเราบิดไม่สุด จะเกิดความเสียหาย เพลาอาจจะรูด ได้เหมือนกัน ในกรณีที่ลืมบิด HUB LOCK แม้จะใส่เกียร์เป็นขับเคลื่อน 4 ล้อ แล้วก็ตาม รถจะขับเคลื่อนแค่ 2 ล้อ แต่สิ่งที่ได้คือแรงบิดหรือ TORQUE ที่เพิ่มขึ้นเสมือนการขับเคลื่อน 4 ล้อตามปกติ
เมื่อมีการปรับเกียร์ 4L (4LOW) ไปในตำแหน่ง จะสังเกตุเห็นได้ชัดว่า รอบเครื่องจะสูงขึ้นกว่าปกติในความเร็วที่เท่ากัน แสดงว่าเครื่องยนต์พร้อมจะถ่ายทอดแรงบิดที่เพิ่มมากขึ้นลงสู่สี่ล้อ หากเราทดลองใส่เกียร์ 1 ในตำแหน่งเกียร์ปกติ รถจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้โดยไม่ต้องแตะคันเร่ง หรือ เราเรียกว่า WALKING SPEED เป็นเพราะแรงบิดมหาศาลของเครื่องยนต์นั่นเอง
สำหรับเกียร์ 4L (4LOW) นั้น เหมาะสำหรับเส้นทางที่ทุรกันดารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหล่มโคลน ร่องลึก ทางชัน การปีนหิน ข้ามน้ำ เป็นต้น เราสามารถใช้ได้ตั้งแต่เกียร์ 1-5 ขับได้ตามรอบเครื่อง ใช้ที่ความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้นการใช้เกียร์ 4L (4LOW) ก็เพื่อต้องการแรงบิด หรือ TORQUE ไม่ใช่ความเร็ว สิ่งที่ผู้ขับขี่พึงจำไว้อีกประการหนึ่งก็คือ ห้ามเลี้ยงคลัทช์โดยเด็ดขาด เนื่องจากแรงบิดมหาศาลที่ส่งมาจากเครื่องยนต์ จะทำให้คลัทช์ไหม้ หรือสปริงคลัทช์อาจจะหัก
ในการขับรถโดยใช้ 4L (4LOW) มีข้อดีมหาศาล แต่ก็มีโทษมหันต์เช่นกันหากเราใช้ไม่เป็นหรือใช้แบบผิดๆ ดังนั้นเราต้องอาศัยการฝึกหัดขับ การเลี้ยงรอบเครื่องยนต์ ให้เป็น สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ ห้ามออกรถกระชากอย่างรุนแรงหรือกระโจนเด็ดขาด เพราะจะส่งผลให้เกิดความเสียหายให้กับ คลัทช์ เกียร์ เฟืองท้าย เพลาขับ เป็นต้น วิธีการขับที่ถูกวิธี คือ ขับด้วยความนุ่มนวลจนเกิดความชำนาญรู้จังหวะ และความสัมพันธ์ระหว่างเกียร์กับรอบเครื่องยนต์ ตะกุยผ่านเส้นทางที่ทุรกันดารไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
หลักสูตรที่ 7. การเลือกใช้ยางให้ตรงเป้าหมาย ทั้งยาง A/T และยาง M/T
ยางที่นิยมใช้ในวงการออฟโรด มีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน คือ ALL-TERRAIN ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานบนท้องถนนเป็นส่วนใหญ่ ดอกยางหยาบปานกลาง ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานแบบลุยหนักๆ โดยเฉพาะทางโคลน เนื่องจากการสลัดดินหรือโคลนทำได้ไม่ดี เหมาะสำหรับใช้ทางทั่วๆ ไปมากกว่า
ส่วนยาง MUD-TERRAIN หรือ เรียกกันว่ายาง MUD อาจจะแบ่งเป็นยาง MUD ทั่วๆ ไป กับยางมีบั้ง เช่น ยาง SIMEX ยาง SILVER STONE เป็นต้น ยางชนิดนี้การเกาะถนนทางเรียบหรือใช้งานทั่วๆ ไปอาจจะเป็นรองยาง ALL TERRAIN เนื่องจากเป็นยางที่มีบั้งหนา ดอกยางหยาบ สามารถสลัดโคลนได้ดีในขณะที่หมุนล้อ เหมาะสำหรับการใช้ในเส้นทางที่ทุรกันดาร
สิ่งที่มีส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องของลมยาง ผู้ขับขี่ต้องเติมลมยางให้เหมาะสม ยาง ALL -TERRAIN ทางปกติอาจจะอยู่ที่ 26-30 ปอนด์/ตร.นิ้ว (ด้านหน้าควรมากกว่าด้านหลัง) ถ้าเป็นยาง MUD-TERRAIN อาจจะลดเหลือ 22-20 ปอนด์/ตร.นิ้ว หรือ 10 กว่าปอนด์/ตร.นิ้ว (สำหรับยางบั้งหนา) ขึ้นอยู่กับสภาพของเส้นทาง ไม่ควรเติมลมยางอ่อนเกินไป เนื่องจากยางอาจจะหลุดขอบได้ แต่ก็ไม่ควรแข็งจนเกินไป เพราะจะมีผลต่อระบบช่วงล่างรวมทั้งลูกปืนล้ออาจจะสึกหร่อมากกว่าปกติ การใช้ยางให้เหมาะสมกับสภาพเส้นทาง การใช้งาน จะทำให้เราขับขี่รถด้วยความมั่นใจ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรถได้อีกด้วย