สวัสดีครับ ข้อมูลนี้ได้จากการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่ข้อมูลภายในบริษัทผลิตสินค้า กรณีต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาสอบถามจากผู้แทนจำหน่าย รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในคันแรกของโลก มีขึ้นในปี 1903 ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อวิบากหรือ 4×4 Off Road ก็ได้รับการวิจัยพัฒนาจนได้รับการบรรจุเข้าประจำการในราชการสงครามโลก สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อวิบากถูกปลดประจำการ พลเรือนจึงนำมาดัดแปลงสภาพเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมป่าไม้ เหมืองแร่ ฟาร์มไร่ปศุสัตว์ กลุ่มนักผจญภัยใช้ชีวิตกลางแจ้ง (Outdoor Life) ทั้งอเมริกันและอินโดนีเซีย นำมาขับลุยป่าเล่นในวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นที่ฮือฮานิยมแพร่หลายทั่วโลก...
Station ที่ 1. การขับในเส้นทางที่เป็นหลุมสลับ และเนินหินสลับ
เนินหินสลับ และหลุมสลับซ้าย-ขวา ในสถานีที่ 1 หรือ Station ที่ 1 นี้ ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ต้องอาศัยการควบคุมพวงมาลัยและการใช้รอบเครื่องยนต์เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับผ่านหลุมสลับนั้น สิ่งที่เด่นชัดที่สุด ก็คือ อาการสะบัดไปมาของหน้ายางในขณะที่ล้อข้างหนึ่งอยู่บนพื้นราบและล้อข้างหนึ่งตกอยู่ในหลุม ช่วงล่างจะมีอาการยืดและยุบแบบไขว้กันเป็นเส้นทแยงมุมทั้งด้านหน้าและด้านหลังของรถในเวลาเดียวกัน หากว่ามีการฝืนพวงมาลัยมากเกินไป ล้อด้านที่อยู่ด้านบนจะงัดเอาตัวรถให้มีอาการคล้ายกับไม้กระดก ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้
ตามทฤษฎีแล้วต้องคำนึงว่าจะขับอย่างไรก็ได้ให้ล้อแตะพื้นและมีน้ำหนักกด 3 จุด ชุดขับเคลื่อนจะสามารถถ่ายทอดกำลังเครื่องยนต์ลงสู่พื้นพอที่จะทำให้รถเคลื่อนที่ไปได้ แต่เมื่อเกิดอาการงัดอย่างรุนแรง สิ่งที่ต้องกระทำก็คือ การแก้ทิศทางพวงมาลัยโดยหักล้อไปในทิศทางลงเนิน น้ำหนักรถจะเอียงกลับไปกดด้านที่อยู่ต่ำกว่า พร้อมกับกดคันเร่งเบาๆ รถก็จะสามารถขยับไปได้ หากยังไม่สามารถเคลื่อนรถได้ ให้ถอยหลังเล็กน้อยประคองพวงมาลัยให้ลงหลุมน้อยที่สุด แล้วกดคันเร่งเดินหน้าก็จะทำให้ผ่านอุปสรรคไปได้
แต่สำหรับรถรุ่นใหม่ๆ ที่มีระบบเฟืองท้ายแบบลิมิเต็ด สลิป (Limited Slip), ล็อกไรท์ (Lock Right), แอร์ล็อกเกอร์ (Air Locker ), ดิฟล็อก (Diff Lock) หรือระบบล็อกเฟืองท้ายแบบอื่นๆ จะช่วยให้ผ่านอุปสรรคลักษณะนี้ไปได้โดยไม่ยากเย็นนัก
ข้อสำคัญคือห้ามใช้ความเร็วแบบพรวดพราด เพราะช่วงล่างของรถอาจจะดีดตัวอย่างแรง เป็นผลให้รถเกิดพลิกคว่ำได้
สภาพเส้นทางที่มีลักษณะคล้ายกับอุปสรรคเนินสลับในสนามฝึกหัดนั้น บางที่บางแห่งจะมีระดับของความขรุขระสูงสุดเหมือนเส้นทางออฟโรดจริงๆ เช่น การขับผ่านก้อนหินขนาดใหญ่ในลำธาร หรือโขดหินบนเส้นทางภูเขา ช่วงล่างของรถจะทำงานหนักมากเป็นพิเศษ หากว่าเราใช้ความเร็วสูงเกินไปอาจจะเป็นการทำลายช่วงล่างของรถโดยไม่ตั้งใจ ทางที่ดีควรใช้ Walking Speed เพื่อให้ได้แรงบิดสูงสุด พร้อมทั้งเร่งส่งเพียงเบาๆ ในบางจังหวะ โดยที่รอบเครื่องยนต์ไม่สูงเกินไป และที่สำคัญอย่ากำพวงมาลัยจนแน่นควรใช้แรงบีบปานกลางกำเฉพาะวงนอก เพราะพวงมาลัยรถอาจจะตีมือได้ทุกเมื่อ สาเหตุจากการที่ก้อนหินกลิ้งหรือแตก จนทำให้ล้อตกลงอย่างแรง เกิดอาการสะบัดและส่งแรงกระแทกผ่านไปยังคันชักคันส่ง ซึ่งอาจทำลายลูกหมากให้ขาดได้ในครั้งเดียว พวงมาลัยจะตีกลับอย่างแรง ดังนั้นเมื่อผ่านโขดหินที่มีขนาดใหญ่จึงควรบังคับให้เหยียบก้อนหินเต็มหน้ายาง ไม่ควรเหยียบแบบหมิ่นเหม่ เพราะหากรถเกิดลื่นไถลตกจากก้อนหิน รวมถึงยางอาจจะหลุดขอบได้เช่นกัน
อีกกรณีหนึ่งพึงระลึกไว้เสมอว่า เส้นทางที่เป็นหินนั้น สามารถสร้างความเสียหายให้กับช่วงล่างได้ไม่ยาก ดังนั้นหากว่ารถเกิดแขวนใต้ท้อง ไม่ควรดิ้นเพื่อให้รถหลุด เพราะเท่ากับว่าเป็นการทำลายช่วงล่างรถของเราไปในตัว ควรตรวจสอบดูให้ละเอียดเสียก่อน หากว่าเพลากลางพาดก้อนหินอยู่แล้วกระชากรถออกไป น้ำหนักรถที่กดเพลากลางอยู่จะทำให้เพลาขาดได้ทันที ควรนำก้อนหินมาวางรองล้อแล้วค่อยๆ ไต่ขึ้นไปช้าๆ จะทำให้สามารถผ่านอุปสรรคนั้นไปได้
วิธีการขับข้ามหลุมสลับซ้าย-ขวา หรือก้อนหินขนาดใหญ่ หากว่าเราไม่แน่ใจว่าใต้ท้องของรถสูงพอที่จะคร่อมไปได้ ก็ให้เปลี่ยนเป็นการวางตำแหน่งล้อให้ปีนไปเลยจะปลอดภัยกว่า และไม่ควรลืมที่จะลดกระจกข้างลงให้สุด เพราะตัวรถจะสะบัดอย่างรุนแรงจนผู้ขับถูกเหวี่ยงไป-มา อาจจะทำให้ศีรษะฟาดกระจกได้ อ้อ…หลังจากขับผ่านไปแล้ว ต้องไม่ลืมตรวจเช็ครถว่ามีอะไรเสียหายหรือเปล่า