สวัสดีครับ ข้อมูลนี้ได้จากการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่ข้อมูลภายในบริษัทผลิตสินค้า กรณีต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาสอบถามจากผู้แทนจำหน่าย รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในคันแรกของโลก มีขึ้นในปี 1903 ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อวิบากหรือ 4×4 Off Road ก็ได้รับการวิจัยพัฒนาจนได้รับการบรรจุเข้าประจำการในราชการสงครามโลก สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อวิบากถูกปลดประจำการ พลเรือนจึงนำมาดัดแปลงสภาพเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมป่าไม้ เหมืองแร่ ฟาร์มไร่ปศุสัตว์ กลุ่มนักผจญภัยใช้ชีวิตกลางแจ้ง (Outdoor Life) ทั้งอเมริกันและอินโดนีเซีย นำมาขับลุยป่าเล่นในวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นที่ฮือฮานิยมแพร่หลายทั่วโลก...
Station ที่ 2 การขับในเส้นทางที่เป็นบ่อโคลนและทางโคลนเ
เส้นทางแบบออฟโรด มีสภาพพื้นผิวที่ค่อนข้างหลากหลาย หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ผู้ขับขี่พบเจออยู่เสมอและควรฝึกหัดขับเพื่อให้เกิดทักษะและความชำนาญก็คือ “การขับลุยโคลน” จัดเป็น “สถานีบังคับ” ก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นในสนามฝึกหัดหรือการขับขี่ในเส้นทางจริง ตลอดจนการแข่งขันออฟโรดแทบทุกรายการ ย่อมหนีไม่พ้นโคลนที่ว่านี้
สภาพเส้นทางที่เป็นโคลนนั้น ท่านจะพบอยู่เสมอหากว่าเดินทางเข้าป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนเส้นทางที่เป็นดิน จะมีลักษณะเปียกลื่นแบบดินหนังหมู จนถึงเละเป็นทะเลโคลนหรือดินมันปู ซึ่งก็กลายเป็นอุปสรรคปัญหาให้การเดินทางต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ยิ่งถ้าเดินทางมากคันผู้ที่ขับขี่ไม่ชำนาญในการขับ จะทำให้การเดินทางนั้นล่าช้าลงไปอีก หากว่ารถคันแรกๆ เกิดติดในบ่อโคลน ควรใช้วินช์ดึงขึ้นทันที ไม่ควรเดินหน้าถอยหลังกวนให้เส้นทางพังมากยิ่งขึ้น เพราะดิ้นมากเท่าใดจะสร้างปัญหาให้กับรถคันหลังๆ ขึ้นอีกเท่าตัว
วิธีแก้ไขพื้นฐานก็คือ เราต้องเรียนรู้และฝึกขับในโคลนจนเกิดความชำนาญ เพื่อเป็นการถนอมรถไม่ให้เกิดปัญหาและสร้างภาระให้กับผู้ร่วมเดินทางคันอื่นๆ ไปด้วยในตัว (จะเป็นการดียิ่งขึ้นหากว่ารถทุกคันมีวินช์ สามารถช่วยเหลือทั้งตนเองและผู้อื่นได้)
การเดินทางเข้าเส้นทางที่เต็มไปด้วยโคลนนั้น ประการแรกถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ การเลือกใช้ยางที่เหมาะสม ควรเป็นยางที่มีดอกยางหยาบ ที่เรียกกันว่า “ยาง Mud Terrain” ซึ่งออกแบบให้มีการสลัดดินโคลนได้ดีกว่ายางที่มีดอกละเอียด หรือ “ยาง All Terrain” เพราะยางชนิดนี้ถูกออกแบบให้จิกพื้นผิวได้ดีกว่ายางที่ไม่มีบั้งหรือยาง All Terrain อีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องของลมยาง ในการขับผ่านโคลนลมยางไม่ควรแข็งจนเกินไป ควรลดลมยางให้อ่อนลงกว่าปกติ เป็นการเพิ่มหน้าสัมผัสของยางให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากแก้มยางจะยุบตัวหรือแบนลงเล็กน้อย ในขณะที่แรงเสียดทานจะเพิ่มขึ้น
แต่ข้อควรระวังในกรณีที่ลดแรงดันลมยางมากเกินไป ก็คือ ยางอาจจะหลุดขอบได้ โดยเฉพาะจากการตกลงในร่องโคลน สาเหตุจากการพยายามขับคล่อมร่องหรือปีนไลน์ ดังนั้นเมื่อเจอร่องในโคลนท่านควรบังคับให้ล้อทั้งสี่ล้อให้ลงอยู่ร่อง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหายางหลุดขอบ อีกกรณีหนึ่งเกิดจากการใช้รอบจัดมากเกินไปจนยางไม่สามารถหมุนตามวงล้อได้ทัน เพราะเกิดจากดินเหนียวที่จับแก้มยางนั่นเอง เพราะฉะนั้นการลดลมยางจึงไม่ควรลดมากจนแบนติดดิน โดยเฉพาะยางที่ไม่มีอุปกรณ์ช่วยรัดลมยางให้ติดกับวงล้อ ไม่มีการใส่ยางใน หรือใส่ขอบล็อกยาง ซึ่งถ้ามีสิ่งที่ผมกล่าวมาข้างต้นบางขณะเราสามารถลดลมยางได้ต่ำถึง 8 ปอนด์ โดยที่ยางไม่หลุดขอบ
ปกติรถที่มีน้ำหนักไม่ถึง 2 ตัน ควรใช้ลมยาง 18-20 ปอนด์ บนสภาพเส้นทางที่เป็นโคลน และยังใช้วิ่งบนถนนภายหลังออกจากป่า โดยโครงสร้างของยางไม่เสียหาย (ยิ่งยางที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีปริมาณลมยางมากขึ้น สามารถลดลมยางได้มากกว่ายางที่มีขนาดเล็กกว่า)
ยางหน้าแคบและยางหน้ากว้าง มีข้อดีข้อเสียต่างกันดังนี้ หากพื้นผิวเส้นทางไม่เละจนเกินไปนัก อาจจะเป็นดินหนังหมูหรือโคลนเหนียว ยางหน้าแคบจะเหมาะสมกว่าเพราะจะมีการจิกพื้นผิวได้ดี แต่ถ้าสภาพเส้นทางเป็นโคลนเหลว ควรเลือกใช้ยางหน้ากว้างเพราะจะมีผิวสัมผัสของหน้ายางมากกว่า และมีแรงเสียดทานสูง
สำหรับการขับในโคลนอย่างถูกต้องนั้น ให้ลองนึกถึงพื้นผิวที่มีความนุ่มกว่าปกติ หน้ายางจะสัมผัสกับพื้นดินที่มีความอ่อนตัวมากๆ ทำให้เกิดแรงเสียดทานที่พอเพียงในการที่จะทำให้รถเคลื่อนที่มีอยู่เพียงช่วงเดียว นั่นหมายถึงหากเราใช้รอบล้อที่ต่ำเกินไป (ในที่นี้ขึ้นอยู่กับรอบเครื่องยนต์และเกียร์ที่ใช้) รถก็จะไม่สามารถแล่นผ่านไปได้ หรือถ้าใช้รอบล้อที่จัดเกินไป ก็จะทำให้เกิดการขุดฝังตัวเอง เป็นที่น่าสังเกตว่าค่าของแรงเสียดทาน(สัมประสิทธิ์) สำหรับพื้นโคลนที่ไม่เละมากนัก จะต่ำกว่าพื้นผิวโคลนที่เละจนเหลว ซึ่งต้องใช้การหมุนหรือปั่นของล้อที่มากขึ้นด้วย ค่าสัมประสิทธิ์ของแรงเสียดทานนี้ จึงเป็นตัวกำหนดวิธีการขับของพื้นผิวที่เป็นโคลนทั้งสองแบบดังนี้
บนพื้นผิวโคลนที่มีความนุ่มปานกลาง ควรเลือกใช้ Walking Speed เพราะจะมีแรงบิดสูง ทำให้ล้อไม่ปั่นฟรี และไม่ขุดฝังตัวเองหรือไม่เกิดอาการลื่นไถลออกนอกลู่นอกทาง ทำให้การควบคุมรถง่ายขึ้น หากเกิดความรู้สึกว่ารถไม่เคลื่อนที่ สามารถกดคันเร่งช่วยเบาๆ หรือเร่งแบบปั๊มเป็นจังหวะ เพื่อช่วยให้ได้แรงเสียดทานที่พอดีซ้ำหลายๆ ครั้ง จะช่วยให้รถผ่านไปได้แบบสบายๆ
สำหรับพื้นผิวที่เป็นโคลนเละมากๆ การใช้ Walking Speed บางครั้งรถก็ไม่สามารถเคลื่อนตัวไปได้ เนื่องจากล้อต้องการแรงเสียดทานที่สูงมาก ควรเปลี่ยนเป็นการใช้เกียร์ 2 (4L) จะทำให้ความเร็วของล้อเพิ่มมากขึ้น โดยค่อยๆ บังคับรถลงในบ่อโคลนหรือร่องแล้วจึงเร่งส่ง ไม่ต้องถอนหรือปั๊มคันเร่ง เพราะการถอนคันเร่งเพียงเสี้ยววินาทีอาจทำให้เสียจังหวะ หรือรอบเครื่องยนต์อาจจะตก และห้ามกระโจนลงบ่อโคลนหรือแม้แต่บ่อน้ำโดยแรง เพราะน้ำหรือโคลนจะกระจายเต็มหน้ากระจังรถ ผลที่ตามมาคือโคลนหรือน้ำผสมโคลนจะฉาบรังผึ้งหม้อน้ำทำให้เกิดการอุดตันจนหม้อน้ำไม่สามารถระบายความร้อนของเครื่องยนต์ได้ ตลอดจนใบพัดหม้อน้ำอาจจะแตกและพาลไปตีชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ รวมทั้งอาจจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟ เนื่องจากน้ำกระเด็นเข้าไปในห้องเครื่องยนต์ ถ้าเข้าไปในไดชาร์จจะทำให้แปลงถ่านติดจนไม่สามารถชาร์จไฟให้กับแบตเตอรี่ได้ ไม่เท่านั้นในบางครั้งที่เราขับแบบกระโจนด้วยตั้งใจว่าจะเร่งส่งเพื่อให้ข้ามภายในช็อตเดียว แต่เราไม่รู้ว่าในบ่อโคลนเหล่านั้นมีอะไรอยู่บ้าง อาจจะเป็นหิน ท่อนไม้ หรือฯลฯ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ช่วงล่างหรือระบบต่างๆ ได้อีกเหมือนกัน
เมื่อขับไปแล้วเริ่มรู้สึกหนืดคล้ายจะติด ให้ส่ายพวงมาลัยซ้าย-ขวา เพื่อให้ล้อเกิดการเกาะพื้นผิวดินใหม่ ก็อาจทำให้รถเคลื่อนที่ต่อไปได้ เพราะถ้าวางตำแหน่งล้อไว้ที่เดิมก็มีแต่จะจมลง อันที่จริงผมไม่อยากพูดถึงเกียร์ 3 (4L) ในบทของพื้นฐานการขับรถ แต่มันก็ให้ผลดีใช้ได้ในสภาพโคลนที่เละมากๆ เพราะล้อรถจะมีรอบที่หมุนจัดขึ้น แต่ถ้าปั่นไปแล้วเกิดการจมหรือแขวนใต้ท้องให้ถอนคันเร่งทันที มิฉะนั้นล้อจะขุดจนฝังตัวเอง
สุดท้ายเมื่อลองวิธีที่ผ่านมาแล้วรถยังไม่สามารถผ่านบ่อโคลนไปได้ ก็ให้ใช้วิธีสุดท้าย คือ ใช้วินช์ดีที่สุด แต่ในกรณีที่ติดมากๆ วินช์ไม่ขึ้นหรือเสี่ยงต่อสายสลิงขาด ควรใช้รอกทดหรือสแน็ชบล็อกทดเพิ่มกำลังของวินช์เป็นสองเท่าตัว (Double Lines) เพื่อป้องกันไม่ให้สลิงตัด เพราะขณะดึงรถที่จมอยู่ในโคลนนั้น น้ำหนักรวมจะไม่ใช่แค่น้ำหนักรถเท่านั้น แต่จะบวกแรงเสียดทานของใต้ท้อง ที่ถูกโคลนจับอยู่ ปกติน้ำหนักรถแค่ 2 ตัน อาจจะเพิ่มเป็น 3-4 ตัน ก็ได้ วินช์จึงต้องออกแรงมากกว่าปกติ (นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงเลือกใช้วินช์ที่มีกำลังมากกว่ารถ)
ภายหลังที่เดินทางผ่านหรือเสร็จสิ้นการลุยโคลนแล้ว อย่างแรกที่พึงกระทำ คือ ล้างอัดฉีดรถทั้งคัน เพื่อป้องกันไม่ให้โคลนกัดจนเป็นสนิม โดยเฉพาะดินเค็มและฝุ่นละเอียดที่จะเข้าไปทำลายซีลต่างๆ ทั้งของเครื่องยนต์ ดุมล้อ เฟืองท้าย และระบบช่วงล่างต่างๆ สิ่งที่ไม่ควรลืมอีกอย่างหนึ่งคือ การทำความสะอาดหน้าสัมผัสของสะพานไฟ (หางปลา) ตามจุดต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟ โดยใช้สเปร์ยน้ำมันฉีดพ่นเพื่อป้องกันการเกิดขี้เกลือ