สวัสดีครับ ข้อมูลนี้ได้จากการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่ข้อมูลภายในบริษัทผลิตสินค้า กรณีต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาสอบถามจากผู้แทนจำหน่าย รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในคันแรกของโลก มีขึ้นในปี 1903 ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อวิบากหรือ 4×4 Off Road ก็ได้รับการวิจัยพัฒนาจนได้รับการบรรจุเข้าประจำการในราชการสงครามโลก สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อวิบากถูกปลดประจำการ พลเรือนจึงนำมาดัดแปลงสภาพเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมป่าไม้ เหมืองแร่ ฟาร์มไร่ปศุสัตว์ กลุ่มนักผจญภัยใช้ชีวิตกลางแจ้ง (Outdoor Life) ทั้งอเมริกันและอินโดนีเซีย นำมาขับลุยป่าเล่นในวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นที่ฮือฮานิยมแพร่หลายทั่วโลก...
Station ที่ 8. เนินเอียงเข้าโค้ง
สถานีหรือ Station นี้ จะเป็นการขับไปบนเส้นทางเลี้ยวบนเนินเอียงแบบครึ่งวงกลม เป็นเสมือนด่านการทดสอบสมรรถนะของระบบการให้ตัวของช่วงล่าง รวมทั้งฝึกการบังคับเลี้ยวการฝึกหัดขับขี่สำหรับผู้ขับขี่มือใหม่ แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของการขับในอุปสรรคลักษณะนี้ผู้ขับขี่ควรเลือกใช้เกียร์ 1-4 Low โดยอาศัยแรงบิดของเครื่องยนต์ใช้ Walking Speed เป็นหลัก โดยรักษาความเร็วให้คงที่ เพื่อป้องกันการปั่นฟรีของล้อ
ทั้งนี้อุปสรรคลักษณะนี้ ต้องอาศัยการบังคับและควบคุมพวงมาลัยของรถเป็นหลัก ด้วยการประคองพวงมาลัยให้ขนานไปกับเส้นทางเอียง ขับไปอย่างช้าๆ ด้วยความเร็วคงที่ พร้อมกับประคองพวงมาลัยให้ตรง หรือขนานไปกับระนาบพื้นเอียง ไม่ว่าจะเป็นโค้งซ้ายหรือโค้งขวา เป็นพื้นฐานการขับบนพื้นเอียงที่ถูกต้อง แล้วท่านจะพบว่าแทบจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเลย ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับพวงมาลัยของรถมากนัก เพียงประคองไม่ให้ล้อเป๋ไปเป๋มาก็พอ
รถออฟโรดที่มีเฟืองท้ายแบบลิมิเต็ด สลิป (Limited Slip) ล็อกไรท์ (Lock Right) แอร์ล็อกเกอร์ (Air Locker) หรือระบบล็อกเฟืองท้ายแบบอื่นๆ ก็จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของล้อปั่นฟรีบนพื้นเอียงได้ดี แต่ก็ต้องแลกกับวงเลี้ยวที่กว้างขึ้น เพราะตัวรถถูกเทไปตามแรงดึงดูดของโลก คล้ายกับรถกำลังจะลื่นไถลออกนอกเส้นทาง ผู้ขับทั้งมือใหม่และมือเก่า จะหักพวงมาลัยสวนไปในทิศทางด้านที่อยู่สูงกว่าโดยอัตโนมัติ เป็นข้อปฏิบัติที่ผิดอย่างยิ่ง เพราะนอกจากรถจะไม่สามารถขึ้นระนาบเอียงได้แล้ว ด้านท้ายของรถจะแฉลบตกลงตามแรงดึงดูดของโลก ทำให้รถเกิดอาการขวางลำและพลิกคว่ำได้
ขับไปอย่างช้าๆ ด้วยความเร็วคงที่ พร้อมกับประคองพวงมาลัยให้ตรง หรือขนานไปกับระนาบพื้นเอียง ไม่ว่าจะเป็นโค้งซ้ายหรือโค้งขวา เป็นพื้นฐานการขับบนพื้นเอียงที่ถูกต้อง
Station ที่ 9. สะพานซุงและสถานีน้ำตก
การขับขี่ในเส้นทางที่เป็นสะพานซุงลักษณะนี้ เป็นการทดสอบการบังคับพวงมาลัย และทัศนวิสัยในการขับขี่ของรถแต่ละคัน ซึ่งในเส้นทางธรรมชาตินั้น วิธีที่ปลอดภัยมากที่สุดก็คือ ควรมีคนมาช่วยบอกไลน์ โดยให้สัญญาณมือเพื่อกำหนดวิธีการขับทั้งตำแหน่ง และทิศทางของล้อทั้งสี่ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่บอกไลน์จะทำหน้าที่เป็นเสมือนดวงตาแทนผู้ขับ โดยไม่ทำให้ผู้ขับเกิดความสับสน สามารถบอกไลน์ได้จากตำแหน่งหน้า-หลัง ทั้งเดินหน้าและถอยหลัง ซึ่งดีกว่าการใช้คำพูดในการสื่อสาร ที่อาจจะทำให้เกิดความสับสน จนทำให้ผู้ขับบังคับรถผิดพลาด เพียงคำสั่งให้บังคับพวงมาลัยรถให้เลี้ยวซ้าย-ขวา ก็งงกันแย่แล้ว เพราะเมื่อผู้บอกไลน์ยืนในตำแหน่งหน้ารถ ซ้ายของผู้บอกไลน์ก็จะกลายเป็นขวาของผู้ขับ หรือเมื่อบอกไลน์จากด้านหลัง โดยต้องการขับถอยหลัง ก็จะเกิดความสับสนอีก เพราะซ้ายของผู้บอกไลน์ กลายเป็นซ้ายของรถจริงๆ ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาว่าเมื่อใดจะให้บังคับพวงมาลัยไปในทิศทางใด การใช้สัญญาณมือ จะทำให้ไม่ต้องเดาใจกันระหว่าง ผู้ขับกับผู้บอกไลน์ จึงเท่ากับเป็นการตัดความสับสนที่เกิดจากการสื่อสารออกไป
ส่วนวิธีการขับในสถานีนี้ยังคงใช้ Walking Speed โดยอาศัยกำลังของเครื่องยนต์เป็นหลัก และรักษาความเร็วให้คงตำแหน่งของเกียร์หลักอยู่ที่เกียร์ 1 ในตำแหน่ง 4 l เช่นเดียวกับทุกอุปสรรค ปรับเปาะให้ตั้งตรงมากกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อเพิ่มระยะในการมองเห็น แล้วค่อยๆ เคลื่อนรถผ่านไปอย่างนุ่มนวล โดยการกำหนดแนวล้อซ้าย-ขวา ให้อยู่ระหว่างตรงกลางสะพานซุง เปิดใบปัดน้ำฝนช่วยตลอด เพราะสถานีนี้เปรียบเสมือนการขับรถผ่านสายฝน
ห้ามเร่งเครื่องยนต์โดยฉับพลัน เพราะจะทำให้รถเสียอาการ อันเกิดจากความลื่นของน้ำที่เปียกพื้นผิว จะทำให้รถเสียอาการ และอาจจะไถลออกนอกเส้นทาง อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้